top of page
เหล็กชุบซิงค์ GI กับ เหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG
.. ไม่เหมือนกัน !

เขียนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563

บทความซิงค์กับกัลวาไนซ์

สำหรับคนที่มีเวลาน้อย อ่านตารางนี้อันเดียวก็เข้าใจครับ

ตารางเปรียบเทียบการชุบGI กับ การชุบHDG

 

การชุบซิงค์ GI กับ การชุบกัลวาไนซ์ HDG ไม่เหมือนกันครับ..

..เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทั้งเจ้าของบ้านหรือแม้แต่ช่างเหล็กเองมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับเหล็กรูปพรรณที่ชุบสังกะสีแล้วได้ผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นผิวสีเทาเงินสะท้อนแสง ว่าพวกมันคือ เหล็กกัลวาไนซ์ เหมือนกัน ..ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เลย (แม้คำว่า กัลวาไนซ์, ซิงค์, และสังกะสี ทั้งสามคำนี้จะมีความหมายเดียวกันก็ตาม)

ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังเข้าใจผิดมหันต์ว่าเหล็กชุบเหล่านั้นสามารถนำไป ใช้งานกลางแจ้ง ตากแดดตากฝน โดนไอเกลือ ไอทะเล สารเคมีได้โดยเนื้อเหล็กไม่ผุกร่อนเป็นสนิม


..ซึ่งไม่จริงครับ ! บางชนิดถ้าเอาไปใช้แบบนั้นสนิมขึ้นแน่ ๆ ครับ !!

บทความซิงค์กับกัลวาไนซ์1

เหล็กขุบ ‘ส่วนใหญ่’ ที่พบเห็นได้ในท้องตลาด ตามร้านเหล็กและร้านวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ จะเป็น เหล็กชุบซิงค์ GI (หรือชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ Pre-zinc steel หรือ Pre-galvanized steel) 

เหล็กชุบซิงค์ GI นี้ คือเหล็กที่มีชั้นเคลือบสังกะสีที่ค่อนข้างบาง โดยผ่านกรรมวิถีการชุบแบบ Mill galvanizing ที่แปลว่าการชุบแบบเครื่องโม่ ..ที่เรียกเช่นนี้เพราะเหล็ก GI จะถูกชุบสังกะสีเหลวตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเหล็กดำม้วนคอยล์ใหญ่ ๆ ก่อนจะแผ่นเหล็กจะถูกดึงผ่านสังกะสีเหลวอย่างรวดเร็วและตัดสังกะสีเหลวส่วนเกินออกด้วยลม ซึ่งทำให้พื้นผิวมีสีเทาเงินเนียนสวยงาม เมื่อได้ม้วนคอยล์เหล็กชุบสังกะสีมาแล้ว จึงนำไปตัดดัดพับขึ้นรูปเป็นทรงกล่องจัตุรัส, กล่องไม้ขีด, ตัวซี, ฉากพับ หรือรูปพรรณอื่น ๆ ตามความต้องการ

บทความซิงค์กับกัลวาไนซ์2

คลิปตัวอย่างกรรมวิธีชุบแบบ Mill galvanizing

 

เหล็กชุบซิงค์ GI จึงมีชั้นสังกะสีที่เคลือบบนพื้นผิวค่อนข้างน้อย ที่ราว ๆ 5-15 ไมครอน และความหนาเนื้อเหล็กที่ผลิตได้จะไม่หนาเกิน 2mm (ถ้าหนากว่านั้นจะเข้ากรรมวิธี Mill galvanizing ไม่ได้) การใช้งานจึงไม่เหมาะกับงานกลางแจ้งที่ต้องโดนแดดโดนฝนโดยตรง, งานโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเยอะ และมีอายุการใช้งานอยู่ที่ไม่เกิน 10 ปี (ปกติชั้นสังกะสีจะสลายไปปีละ 1 ไมครอน ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม)

 

หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ?

ชั้นเคลือบซิงค์ที่สลายไปถึงเนื้อเหล็กก็จะเกิดสนิมขึ้น.. ซึ่งถ้าถึงวันนั้นก็อาจต้องขัดชั้นซิงค์และสนิมออกแล้วทาสีกันสนิมทับเหมือนกับเหล็กดำธรรมดาครับ

 

"ทว่าเหล็กชุบซิงค์ GI เหมาะอย่างยิ่งกับงานก่อสร้างภายในอาคาร งานโครงสร้างที่รับน้ำหนักไม่มาก ทำเป็นคาน, แปหลังคา, จันทัน ต่าง ๆ ที่อย่างไรก็ต้องทำ Built-in มาปิดอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ต้องทาสีกันสนิมเหล็ก ประหยัดทั้งค่าจ้างช่าง ประหยัดเวลาก่อสร้าง และที่สำคัญเมื่อเทียบกับการทาสีกันสนิมแล้ว การชุบซิงค์ GI ทนต่อการเกิดสนิมได้ดีกว่ามาก แม้จะเกิดรอยขีดทะลุชั้นเคลือบซิงค์เข้าไปถึงเนื้อเหล็กแต่ด้วยคุณสมบัติทางเคมีของซิงค์ มันจะแย่งทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เนื้อเหล็กไม่เป็นสนิมครับ"


ร้านเหล็กมาบุญยงค์ มีสินค้าประเภทเหล็กชุบซิงค์ GI จำหน่ายหลายชนิดและขนาด ทั้งเหล็กกล่องไม้ขีด เหล็กกล่องจัตุรัส เหล็กตัวซี เหล็กฉากพับ

.........................

แล้ว เหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG จริงๆ ..คืออะไรกันแน่ ?

บทความซิงค์กับกัลวาไนซ์3

 

เหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG (หรือชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ Hot dip galvanized steel) คือสุดยอดแห่งเหล็กชุบกันสนิม (ที่ไม่ใช่โลหะผสม หรือที่เรียกว่าอัลลอยด์) ซึ่งโดยปกติไม่ใช่เหล็กที่หาได้ง่าย ๆ ในท้องตลาดครับ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง และความต้องการใช้ของผู้บริโภคในไทยยังน้อย

เหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG มีกรรมวิธีผลิตที่เข้าใจง่ายกว่ามาก คือ 'เอาเหล็กรูปพรรณดำ ไปจุ่มในอ่างสังกะสีเหลวร้อน แล้วยกขึ้นมา' ...จบแล้วครับ ! คล้ายกับการทำป๊อกกี้เคลือบช็อกโกแลตน่ะแหละ (อันที่จริงก็มีรายละเอียดก่อนหลังมากกว่านั้นนิดหน่อย แต่ตัวประเด็นมีแค่นั้นจริง ๆ ครับ)
 

คลิปตัวอย่างกรรมวิธีชุบแบบ Hot dip galvanizing

 

ซึ่งความหนาของชั้นเคลือบสังกะสีจะขึ้นอยู่กับความนานในการแช่ในอ่างสังกะสี ..ยิ่งแช่นาน ยิ่งหนัก ค่าชุบยิ่งแพงครับ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาคือพื้นผิวสีเทาเงินสะท้อนแสงที่มีลวดลายดอกดวงอันเป็นเอกลักษณ์ (หรืออาจดูอัปลักษณ์) ของการจุ่มสังกะสีเหลวร้อน กับชั้นเคลือบสังกะสีที่หนาอย่างมหัศจรรย์หลายร้อยไมครอน โดยปกติแล้วชั้นเคลือบก็จะสลายไปประมาณ 1 ไมครอนต่อปีเท่านั้น


ใช่ครับ ..อายุการใช้งานของมันจึงยาวนานมาก ..อย่าว่าแต่ 30 ปีเลยครับ เป็นร้อย ๆ ปีก็ยังไม่เป็นสนิมหรอก (นอกจากโดนสารเคมีหรือความเป็นกรด-ด่างรุนแรง)

บทความซิงค์กับกัลวาไนซ์4

อ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่า เหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG ก็ดูดีน่าใช้ไปหมดทุกอย่าง ..แต่ก็ไม่เป็นแบบนั้นเสียทีเดียวนะครับ
นอกจากการเป็นปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมระดับชั่วลูกชั่วหลาน อันเกิดจากความทนทายาทของเหล็กชนิดนี้ (ซึ่งเรามักจะลืมใส่ใจไปเสียสนิท) ข้อเสียหลัก ๆ ของมันคือเรื่องราคาที่สูงมาก ..บางทีค่าเหล็กรูปพรรณดำ บวกค่าสีกันสนิม บวกค่าจ้างช่างสี รวมทั้งหมดแล้วก็ยังสู้ราคาของมันไม่ได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาตามเป็นจริงโครงสร้างเหล็กภายในอาคารล้วนไม่โดนแดดโดนฝนอยู่แล้ว ต่อให้ใช้เหล็กดำเปลือยก็แทบไม่เกิดสนิมนะครับ ..แค่ใช้สีกันสนิมทาก็อยู่ยงทนทานได้นับสิบ ๆ ปี


ข้อเสียรองลงมา คือปัญหาต่อร่างกายช่างเหล็กครับ ..ซิงค์ หรือ สังกะสี 'เป็นสารพิษต่อมนุษย์' การตัด, เชื่อมจะทำให้เกิดไอพิษออกมา ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวผมขออนุญาตแยกเป็นบทความต่อไปครับ


ข้อเสียสุดท้าย ตามที่บอกไปข้างต้น เนื่องจากราคาต้นทุนที่สูงและมีการบริโภคน้อย ทำให้ร้านเหล็กและร้านวัสดุก่อสร้างยังคงหลีกเลี่ยงที่จะสั่งผลิตเหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG มาสต็อคในคลัง ดังนั้นจึงเป็นของหายากมากในท้องตลาด ...แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ทางร้านอาจแนะนำเป็นโรงชุบกัลวาไนซ์ที่อยู่ใกล้เคียง โดยลูกค้าต้องนำรถเข้ามาซื้อเหล็กรูปพรรณดำไปชุบที่โรงชุบ อาจจะฟังดูวุ่นวายแต่ดีกว่าชุบสำเร็จตรงที่ 'ลูกค้าสามารถตัดหรือเชื่อมชิ้นงานตามที่ต้องการก่อน แล้วค่อยเอาไปจุ่มชุบ' ซึ่งทำให้เคลือบทั่วถึงทุกจุดครับ


ร้านเหล็กมาบุญยงค์เช่นกันครับ เรายังไม่ได้สต็อคเหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG ไว้ แต่ทางเราสามารถแนะนำโรงชุบกัลวาไนซ์ที่มีมาตรฐานสูงในบริเวณใกล้เคียงให้คุณลูกค้าได้ และในอนาคตอันใกล้เมื่อลูกค้าหันมาใช้เหล็กชุบแบบนี้กันมากขึ้น ทางร้านจะนำมาสต็อคขายอย่างแน่นอนครับ

...........................................................................................

 

สรุป ไม่ว่าจะเป็นเหล็กชุบซิงค์ GI หรือเหล็กชุบกัลวาไนซ์ HDG ต่างมีวัตถุประสงค์การใช้งานใกล้เคียงกันคือช่วยป้องกันการเกิดสนิม ช่วยประหยัดเวลา ค่าสี และค่าจ้างช่างสี แต่การเลือกว่าจะใช้เหล็กชุบแบบใดขึ้นอยู่กับบริเวณที่จะนำเหล็กไปใช้งาน และงบประมาณของเจ้าของงานครับ


ร้านเหล็กมาบุญยงค์ ยินดีให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าแก่ลูกค้าทุกท่านอย่างเที่ยงตรง เพื่อช่วยลูกค้าประหยัดเงิน และนำไปใช้งานได้โดยปลอดภัย หากคุณลูกค้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเปค ขนาด การใช้งาน สินค้าประเภทเหล็กชุบซิงค์หรือสินค้าอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Line @maboonyong หรือเบอร์ 02-090-2587 เวลาทำการ 7:30 – 17:00น. และร้านหยุดทุกวันอาทิตย์นะครับ
 

อนุชาติ พนมโชคไพศาล

(ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มาบุญยงค์กรุ๊ป จำกัด)

...........................................................................................

บทความอื่น, สินค้าที่เกี่ยวข้อง
เหล็กแผ่นชุบซิงค์

บทความ ความรู้เรื่องเหล็กชุบ

เหล็กฉากชุบซิงค์GA

สินค้าเหล็กชุบซิงค์ GI

สแตนเลสแผ่นลาย

บทความ ความรู้แผ่นโลหะต่างๆ

bottom of page